Description
“ในยามค่ำมืดของวันเวลาและชีวิต
แม้หมวกสานกุยเล้ยที่ครอบหัวแหว่งวิ่นขาดเป็นรู
เขาก็จะไม่ยอมเดินก้มหัวขึ้นภู
แสงดาวที่ลอดผ่านรูในหมวก
บอกให้รู้ว่าทั้งผืนฟ้าระยิบระยับด้วยพันดารารอเราอยู่
ขอเพียงเงยหน้าเล็กน้อย ไม่ทำคอตก…”
เรื่องราวของพ่อผู้เขียน
ลูกชายของแม่คนไทยกับหนุ่มจีนไหหลำ
ผู้เป็นหนึ่งในคลื่นกระแสชาวจีนโพ้นทะเลที่หนีความยากลำบากมาสร้างชีวิตใหม่ในเมืองไทยเมื่อราวร้อยปีก่อน
เพียงไม่ทันไรลูกชายอายุ ๙ ขวบก็ต้องพลัดพรากจากอ้อมอกแม่คนไทย ถูกพ่อส่งไปเรียนหนังสือที่เกาะไหหลำตามคตินิยมของชาวจีนโพ้นทะเลยุคนั้น
.
เขากลับมาต่อสู้หาเลี้ยงชีพด้วยความรู้ที่ได้ติดตัวมา
พบรักกับสาวเมืองงาว เชื้อสายตระกูลพ่อเลี้ยงช้างแม่เลี้ยงช้างเมืองเหนือที่ต้องเซซัดจากเหตุการณ์กบฏเงี้ยว
และการยึดคืนสัมปทานป่าไม้จากรัฐบาลส่วนกลางหลังจากชาติเจ้าอาณานิคมเป็นเจ้าสัมปทานมาก่อน
จนทำให้อาชีพรับเหมาชักลากไม้ซุงต้องพบกับจุดจบ
.
หนุ่มพิชิตใจแม่ยายด้วยการเสี่ยงภัยอย่างอุกอาจ ท่ามกลางคลื่นนโยบายต่อต้านคนจีนสมัยจอมพล ป. อันรุนแรงโหมพัดไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ชายหนุ่มและหญิงสาวเรียนรู้การค้าข้าว เก็บหอมรอมริบจนตั้งตัวได้ ทำธุรกิจ
เป็นเจ้าของโรงสีข้าวขนาดกลางในเมืองพะเยา
เป็นโรงสีข้าวที่ตั้งขึ้นด้วยปณิธานแห่งความซื่อสัตย์และจริงใจ ระหว่างเจ้าของโรงสีกับชาวนา
ดั่งสายสัมพันธ์ของมิตรสหายพึ่งพากันในอาชีพ
.
ลมหายใจในโรงสีและบ้านไม้สักสถาปัตยกรรมจีนด้วยฝีมือสล่าช่างพื้นบ้านล้านนา
คือสถานที่แห่งความทรงจำ ประจักษ์พยานของหยาดเหงื่อ และความรักในครอบครัว
ที่ชายหนุ่มกับหญิงสาวทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ผ่านฤดูกาลอันพลิกผัน
ทว่าหนึ่งในความหวังของลูกจีนโพ้นทะเลทุกคน คือการมีลูกชายสืบสกุล
แต่การรอคอยนั้นยาวนาน และไม่รู้จะมาถึงเมื่อไร...
.
จารึกโรงสี ลูกจีนโพ้นทะเล
คือความผูกพันของเมล็ดข้าวกับการเดินทางภายในชีวิตและจิตใจของครอบครัวหนึ่ง
ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
ก่อนที่จารึกตัวอักษรจีนจะเลือนหาย
จากสายลมพัด...ที่มิรู้ล่วงหน้า
.
อ่านบันทึกชีวิตของลูกหลานจีนโพ้นทะเล 4 รุ่น
สืบสาวร่องรอยจากเมืองไทยถึงเกาะไหหลำ
จากอักษรจารึกในโรงสี ถึงเอกสารทางประวัติศาสตร์ และหลุมฝังศพของตระกูล
ชีวิตจริงที่ยิ่งกว่านิยาย
.
ผลงานที่ใช้เวลากว่า 5 ปีของ สุกัญญา หาญตระกูล
อดีตบรรณาธิการร่วมนิตยสารสตรีสาร (2528-2534)
นักเขียนและคอลัมนิสต์ประจำ กรุงเทพธุรกิจ ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปัจจุบัน