Description
ปัญหาพูดภาษาพม่าไม่รู้เรื่อง เพราะเน้นวิชาการเกินไป
หากจะพูดภาษาพม่าให้รู้เรื่องรวดเร็ว
ควรเรียนภาษาอย่างเป็นธรรมชาติ
หนังสือนี้ ฉีกแนวตำราพม่าไทยที่เขียนโดยคนไทย ..
แปลจากคอร์สเรียนออนไลน์ภาษาพม่าที่สอนโดยคนพม่า ...
จึงให้ได้สำนวนพม่าแท้ ๆ และวัฒนธรรมพม่าอีกด้วย
...............................
(คำนำบางส่วน)
คุณผู้อ่านท่านที่เคารพครับ
ผมสนใจภาษาพม่าเมื่ออายุล่วงเข้าวัยสี่สิบไปแล้ว ..
ความสนใจภาษาพม่าของผมนั้น เข้มข้นถึงขั้นทิ้งการงานประจำเกือบทุกอย่าง เข้าคอร์สฝึกอบรมภาษาพม่าของหน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมเกือบสามร้อยชั่วโมง ..
ทั้งจ้างคนพม่ามาสอนส่วนตัว ทั้งยังได้ติดตามไปอยู่ด้วยที่บ้านกับครูพม่า เพื่อศึกษาภาษาพม่าเป็นการเฉพาะทีเดียว
ด้วย “ภาษาพูด” ที่เต็มไปด้วยไวยากรณ์ คนพม่าจึงมักเรียกผมว่า “สยา”
ครับ! “สยา” หมายถึง “ครู” เมื่อคนพม่าเรียกว่า ครู จึงยิ้มเบิกบานใจทีเดียว ซึ่งต่อมาอีกนานมากกว่าจะรู้ตัวว่า ที่เขาเรียกว่าสยานั้น “เพราะพูดตามไวยากรณ์ คนฟังเข้าใจ แต่ไม่รู้สึกตาม” เพื่อนพม่าหลายคนก็สอนเป็นนัยว่า “คัมยา (คุณ) พูดเหมือนตำรานะ ชาวบ้านเขาไม่พูดกันอย่างนั้น”
มิน่าล่ะ เรื่องที่อยากพูดให้ตลก ทำไมคนฟังจึงเครียดกันจังเหวย ☺
นั่นล่ะครับ .. เป็นที่มาของหนังสือแปลชุด “พูดพม่า อย่างคนพม่าพูด” นี้
สยา Naing Tinnyuntpu มีอาชีพเป็นวิศวกรอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อม จบปริญญาโทด้านวิศวกรรมอุตสาหการจากอเมริกา เกิดและเติบโตที่ย่างกุ้ง แต่ได้ใช้ชีวิตในต่างแดนหกประเทศ มีความรู้ที่หลากหลาย
สยา Naing Tinyuntpu สอนภาษาพม่าออนไลน์ฟรี (Asia Pearl Travel : 2014 ) เพื่อให้ผู้สนใจภาษาพม่าสื่อสารกับชาวพม่าได้ อย่างเป็นธรรมชาติ
สยา Naing Tinyuntpu ชี้ให้เห็นโครงสร้างภาษาพม่า และอธิบายภาษาอย่างเป็นธรรมชาติด้วยความเป็นคนพม่า มีไฟล์เสียงประกอบด้วย ผมเรียนตามแนวทางที่สยาสอนจึงพูดเรื่องที่ควรขำ ให้คนพม่าขำได้ เรื่องที่ควรเศร้าให้คนพม่าเศร้าได้ และเรื่องที่ควรขาย .. ให้ขายคนพม่าได้ ด้วยความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังคำพูดนั้น ได้แสดงออกทางถ้อยคำบ้าง ทางกายบ้าง และทางสีหน้าบ้าง ..
ใช้หนังสือนี้อย่างไร?
ด้วยประโยคที่ถูกต้องทำให้ผู้ฟังรู้ความหมาย “ด้วยวิธีแปลตรงตัว” และ “ด้วยวิธีแปลตามความหมาย” สร้างบริบทของเรื่องทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกเกิดอารมณ์ร่วม
“แปลตรง” คือให้คำแปลเป็นคำ ๆ พร้อมกับบอกหน้าที่ของคำนั้นด้วย เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ในประโยคแบบไวยากรณ์ เช่นเป็นกริยา [V] เป็นนาม [N] เป็นสัมพันธะ [Conj] เป็นต้น
“แปลตามความหมาย” โดยยกเรื่องราว “เขียนเป็นตัวเอียง” ก่อนหรือหลังประโยคที่ใช้ภาษาพูด มากกว่าภาษาทางการ และอาจมีเครื่องหมาย (!) หลังข้อความด้วย
การสนทนาภาษาพม่าที่มีคู่สนทนามักละคำ ประธาน ดังนั้นประโยคภาษาพม่าส่วนใหญ่จึงละคำประธาน แต่คำแปลได้เพิ่มประธานด้วยคำว่า “ฉัน” เพื่อให้คำแปลมีประธานที่สมบูรณ์ (เหมือนแปลภาษาอังกฤษที่เคร่งครัด!)
ไฟล์เสียงประกอบ
เป้าหมายของหนังสือชุดนี้ คือ “ฟัง พูด อ่าน เขียน” ตามลำดับ
เด็กทารกเริ่มฟังเสียงตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์มารดา จดจำทำนองจังหวะ คุ้นเคยแล้วจึงเปล่งเป็นลมออกจากปาก กลายเป็นเสียงคำออกมา เสียงแรกฟังดู อ้อ ๆ แอ้ ๆ ไม่มีเสียงพยัญชนะ ต่อพัฒนาการมากขึ้นเสียงพยัญชนะจึงชัดเจน เมื่อแรกเรียน “พูด” ภาษาพม่า ควรเป็นเหมือนเด็กทารกนั้น
จึงขอให้คุณผู้อ่าน ฟัง ให้มาก ๆ ครับ ทุกคำมีไฟล์เสียงประกอบ (ตัวเลขเอียง) จะอ่านคำนั้นก่อนฟังเสียง หรือฟังเสียงนั้นก่อนอ่านคำก็ได้แล้วจึง พูด ออกเสียงตามด้วย เมื่อฟังจนคุ้นเคย เสียงพูดจะชัดและใกล้เคียงโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องกังวลว่า จะออกเสียงได้ชัดหรือไม่? ในชั้นนี้ เราต้องการสื่อความหมายให้ได้อารมณ์อย่างคนพม่าพูด จึงควรรู้ว่า “พูดอย่างไร” ส่วนสำเนียงนั้น “ฟังและฝึกซ้ำๆ” ครับ ความถี่กับเวลาจะสร้างสมดุลอย่างสมเหตุผลให้เกิดขึ้นเอง